วันอังคารที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2560

หมีขั้วโลก

 
  หมีขาว หรือ หมีขั้วโลก  เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมในชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ในอันดับสัตว์กินเนื้อ (Carnivora) จัดเป็นหมีชนิดหนึ่ง

ลักษณะและที่อยู่อาศัย

     หมีขาว ถือได้ว่าเป็นสัตว์กินเนื้อบนพื้นดินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 รองจากหมีกริซลีย์ (U. arctos horribilis) (บางข้อมูลจัดให้เป็นที่ 1) ที่พบในทวีปอเมริกาเหนือ ตัวผู้เต็มวัยอาจสูงได้ถึง 3 เมตร น้ำหนักตัวอาจมากได้ถึง 350–680 กิโลกรัม (770–1,500 ปอนด์) อายุขัยโดยเฉลี่ย 30 ปี หมีขาวมีรูปร่างที่แตกต่างจากหมีชนิดอื่น ๆ ที่เห็นได้ชัดเจน คือ มีส่วนคอที่ยาวกว่า ขณะที่ใบหูก็มีขนาดเล็ก อุ้งเท้ามีขนาดใหญ่ และที่เป็นจุดเด่นเห็นได้ชัด คือ สีขนที่เป็นสีขาวครีมอมเหลืองอ่อน ๆ อันเป็นที่มาของชื่อเรียก เนื่องจากผลของเกลือในน้ำทะเล ซึ่งขนสีครีมนี้ทำให้พรางตัวให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยหิมะและน้ำแข็งได้เป็นอย่างดี
     หมีขาวกระจายพันธุ์อยู่เฉพาะซีกโลกทางเหนือ บริเวณขั้วโลกเหนือหรืออาร์กติกเท่านั้น จัดได้ว่าเป็นสัตว์กินเนื้อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในซีกโลกนี้ อุ้งเท้าของหมีขาวมีขนรองช่วยให้ไม่ลื่นไถลไปกับความลื่นของพื้นน้ำแข็ง หมีขาวถือเป็นสัตว์ที่เดินทางไกลมาก โดยบางครั้งอาจจะใช้วิธีการนั่งบนแผ่นหรือก้อนน้ำแข็งลอยตามน้ำไป หรือไม่ก็ว่ายน้ำหรือดำน้ำไป ซึ่งหมีขาวจัดเป็นหมีที่ว่ายน้ำและดำน้ำเก่งมาก โดยใช้ขาหน้าพุ้ย หรือบางครั้งก็ใช้ทั้ง 4 ขา เคยมีผู้พบหมีขาวว่ายอยู่ในทะเลที่ห่างจากชายฝั่งไกลถึง 200 ไมล์
     หมีขาว เป็นหมีที่ถือได้ว่ากินอาหารมากกว่าหมีชนิดอื่น ๆ ซึ่งอาหารของหมีขาวมีมากมาย เช่น แมวน้ำ หรือ วอลรัส ด้วยการย่องเข้าไปเงียบ ๆ หรือหลบซ่อนตัวตามก้อนหินหรือก้อนน้ำแข็ง นอกจากนี้แล้วบางครั้งยังอาจจับนกทะเล ทั้งไข่และลูกนก บางครั้งก็จับปลากิน หรืออาจจะกินซากของวาฬที่ตายเกยตื้น หรือแม้แต่ซากหมีขาวด้วยกันหรือลูกหมีที่ตายได้ด้วย หมีขาวมีประสาทสัมผัสการรับรู้กลิ่นที่ดีมาก โดยสามารถได้กลิ่นลูกแมวน้ำที่ซ่อนตัวอยู่ใต้พื้นน้ำแข็งได้ไกลถึง 2 กิโลเมตร

วิถีชีวิต

     เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวในเขตอาร์กติก (ราวเดือนธันวาคม-มกราคม) ดวงอาทิตย์จะค่อย ๆ คล้อยต่ำลงเรื่อยๆ จนไม่ปรากฏอีกเลยที่เส้นขอบฟ้าตลอดฤดูกาล ซึ่งช่วงเวลานี้นับได้ว่าเป็นช่วงที่หฤโหดที่สุดในภูมิภาคนี้ เพราะไม่มีแสงสว่าง กลางวันจะมืดเหมือนกลางคืน อาหารก็ขาดแคลน พร้อมด้วยพายุหิมะติดต่อกันเป็นเวลาหลายเดือน
     หมีขาว ในช่วงเวลานี้จะเป็นเวลาที่ให้กำเนิดลูก โดยการขุดโพรงในน้ำแข็งหรือใต้ก้อนหิน เมื่อหิมะตกทับถมมา ผนังถ้ำจะหนาขึ้น และมีความอบอุ่นคล้ายกับอิกลูของชาวเอสกิโม แม่หมีจะคลอดลูกภายในถ้ำนั้น ลูกหมีเกิดใหม่จะมีความยาวราว 20 นิ้วเท่านั้น และมีน้ำหนักตัวไม่ถึงกิโลกรัมดี ซึ่งครั้งหนึ่ง แม่หมีจะออกลูกได้ราว 2 ตัว ในบางครั้งอาจมากถึง 4 ตัว ลูกหมีเกิดใหม่ตาจะยังไม่ลืม และยังไม่มีขนปกคลุมตามลำตัว และจะลืมตาได้เมื่ออายุราว 33 วัน แต่เลนส์ตาจะยังใช้การไม่ได้เต็มที่จนเมื่อมีอายุประมาณ 47 วัน และประสาทหูจะได้ยินเมื่ออายุ 26 วัน แต่จะใช้การได้ดีที่สุดเมื่ออายุได้ 3 เดือน เมื่อลูกหมีอายุเข้า 6 สัปดาห์ครึ่ง ก็ตรงกับช่วงระยะเวลาที่ผ่านพ้นฤดูหนาวพอดี
     สำหรับแม่หมีในช่วงนี้จะไม่กินอาหารเลย แต่จะใช้พลังงานจากไขมันที่สะสมไว้ แม้กระทั่งหมีตัวผู้ก็จะเข้าสู่ถ้ำเพื่อจำศีล เมื่อผ่านพ้นฤดูหนาวไปแล้ว หิมะและน้ำแข็งเริ่มละลาย แสงแดดกลับมาอีกครั้ง (เดือนมีนาคม-เมษายน) ซึ่งในช่วงนี้ หมีตัวเต็มวัยอาจจะกินหญ้าหรือมอสส์ เป็นอาหารรองท้องได้ ลูกหมีจะหย่านม แม่หมีจะพาลูก ๆ ตระเวนไปในที่ต่าง ๆ เพื่อสอนวิธีการล่าเหยื่อให้ ลูกหมีจะอยู่กับแม่จนอายุได้ขวบกว่าหรือสองขวบ จากนั้นจะจากแม่ไปเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่

กระรอก

 
  กระรอก (อังกฤษ: Squirrel, ภาษาไทยถิ่นเหนือ: ฮอก) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีขนาดลำตัวเล็ก ขนปุยปกคลุมทั่วทั้งร่างกาย นัยน์ตากลมดำ หางเป็นพวงฟู จัดอยู่ในประเภทสัตว์ฟันแทะ ในวงศ์ Sciuridae
     กระรอกอาจแบ่งได้เป็น 3 พวกใหญ่ ๆ ได้แก่ กระรอกต้นไม้, กระรอกดิน และ กระรอกบิน
     วงศ์กระรอกมี วงศ์ย่อย 2 วงศ์ คือ Pteromyinae ได้แก่ กระรอกบิน และวงศ์ Sciurinae ได้แก่ กระรอกต้นไม้, กระรอกดิน, ชิพมังค์  ในขณะที่บางข้อมูลแบ่งเป็น 5
     กระรอกต้นไม้ เป็นกระรอกที่มักพบเห็นได้บ่อยและคุ้นเคยกันดี มีหางยาวเป็นพวงสวยงาม มีกรงเล็บแหลมคม และมีใบหูใหญ่ บางชนิดมีปอยขนที่หู ส่วนกระรอกบินนั้น จะมีพังผืดข้างลำตัว สำหรับกางเพื่อร่อนจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง มักเป็นหากินในตอนกลางคืน มีตาสะท้อนแสงไฟ กระรอกดิน มักจะมีรูปร่างสั้น และล่ำสันกว่ากระรอกต้นไม้ มีขาหน้าแข็งแรงใช้สำหรับการขุดดิน หางของกระรอกดินนั้นจะสั้นกว่าหางของกระรอกต้นไม้ และไม่ฟูเป็นพวงนัก และเช่นเดียวกับสัตว์ฟันกัดแทะชนิดอื่น ๆ กระรอกจะมีนิ้วเท้าหลังข้างละ 5 นิ้ว และ นิ้วเท้าหน้าข้างละ 4 นิ้ว ตรงส่วนที่น่าจะเป็นนิ้วโป้งจะกลายเป็นปุ่มนูน ๆ ซึ่งถูกพัฒนาให้เหมาะสำหรับจับอาหารมาแทะ
     กระรอกมีขนาดใหญ่เล็กต่าง ๆ กันไปตามสายพันธุ์ และสามารถแบ่งตามขนาดได้ 3 กลุ่ม คือ ขนาดใหญ่ เช่น พญากระรอก ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองไทยพบอยู่เพียง 2 ชนิด คือ พญากระรอกดำ (Ratufa bicolor) และพญากระรอกเหลือง (R. affinis) ซึ่งได้ถูกขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ขนาดกลาง เช่น กระรอกหลากสี (Callosciurus finlaysoni) กระจ้อน (Menetes berdmorei) และ ขนาดเล็ก เช่น กระเล็น (กระถิก) (Tamiops spp.) ซึ่งเป็นกระรอกที่เล็กที่สุดที่พบในประเทศไทย
     กระรอกเป็นสัตว์ที่คล่องแคล่วว่องไวมาก อาหารของกระรอกคือ ผลไม้ และ เมล็ดพืช เป็นหลัก แต่กระรอกก็ยังชอบกินแมลงด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะกระรอกขนาดใหญ่อย่างพญากระรอก นั้นบางครั้งก็ยังกินไข่นกเป็นอาหารอีกด้วย
     ด้วยความน่ารักของกระรอก ทำให้กระรอกหลายชนิดนิยมเป็นสัตว์เลี้ยงของมนุษย์ เพื่อความเพลิดเพลิน

กระต่าย

   
     กระต่าย (อังกฤษ: Rabbit) เป็นสัตว์ที่จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีกระดูกสันหลัง ชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม กระต่ายแม้จะมีฟันแทะเหมือนกับสัตว์ฟันแทะ (Rodentia) แต่ถูกจัดออกมาเป็นอันดับต่างหาก เนื่องมีจำนวนฟันที่ไม่เท่ากัน เพราะกระต่ายมีฟันแทะที่ขากรรไกรบน 2 แถว เรียงซ้อนกันแถวละ 2 ซี่ ฟันกรามบนข้างละ 6 ซี่ และฟันกรามล่างข้างละ 5 ซี่ เมื่อเวลาเคี้ยวอาหาร กระต่ายจะใช้ฟันทั้ง 2 ด้านเคี้ยวสลับกันไป ต่างจากสัตว์ฟันแทะโดยทั่วไปที่เคี้ยวเคลื่อนหน้าเคลื่อนหลัง
     กระต่ายเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดเล็ก มีขนปุกปุยทั่วลำตัว มีหางกลมสั้น มีใบหูยาวเมื่อเทียบกับสัตว์อื่น ซึ่งวิวัฒนาการมาใช้สำหรับฟังเสียงได้เป็นอย่างดี และยังมีประสาทสัมผัสในการดมกลิ่นที่ดีมาก กระต่ายมีขาหน้าที่มี 5 นิ้ว ขาหลังมี 4 นิ้ว มีสะโพกที่ยาวและทรงพลัง เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ จึงสามารถกระโดดได้เป็นอย่างดี เคยมีการประกวดการกระโดดของกระต่ายที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ กระต่ายตัวที่กระโดดได้สูงที่สุดกระโดดได้สูงถึง 99.5 เซนติเมตรเลยทีเดียว ใต้ฝ่าตีนของกระต่ายมีขนนุ่ม ๆ รองรับอยู่ เพื่อมิให้เกิดเสียงเมื่อเคลื่อนไหว กระต่ายเป็นสัตว์ที่ตื่นตกใจง่ายและมีความว่องไวปราดเปรียวมากในการระแวดระวังภัย นอกจากนี้แล้วตาของกระต่ายยังมีหนังตาหรือเปลือกตาถึง 3 ชั้นด้วยกัน ดวงตาของกระต่ายมีลักษณะกลมโต ทำให้กระต่ายสามารถเหลือบมองภาพด้านหลังได้โดยที่ไม่ต้องหันหัวเลย กระต่ายจัดเป็นสัตว์ที่มีระบบการมองเห็นที่ดีกว่าสัตว์ชนิดอื่น ๆ มาก แต่กระต่ายสามารถมองเห็นสีได้เพียงแค่ 2 สีเท่านั้น คือ สีเขียวและสีน้ำเงิน และจะยิ่งมองได้ชัดเจนขึ้นเมื่ออยู่ในที่มืด
     กระต่ายเป็นสัตว์ที่กินพืชเป็นอาหารเท่านั้น ต่างจากสัตว์ฟันแทะที่กินได้ทั้งเนื้อและพืช อาหารของกระต่ายได้แก่ หญ้าและพืชผักชนิดต่าง ๆ อายุขัยโดยเฉลี่ยของกระต่ายจะอยู่ที่ 2-3 ปี หรือเต็มที่ก็ 5-10 ปี นับเป็นสัตว์ที่สืบพันธุ์เร็วมาก โดยปีหนึ่ง ๆ กระต่ายสามารถออกลูกได้ถึง 2-3 ครั้ง ครั้งละประมาณ 2-3 ตัว กระต่ายในธรรมชาติ มักอาศัยอยู่ในที่ราบโล่งที่เป็นทุ่งหญ้ามากกว่าป่าทึบ โดยขุดโพรงใต้ดินเป็นรังและที่อยู่อาศัย ลูกกระต่ายป่าในธรรมชาติ เมื่อแรกเกิดจะลืมตา และในวันรุ่งขึ้นก็สามารถวิ่งและกระโดดได้เลย เมื่อกระต่ายตัวเมียจะคลอดลูก จะแยกออกจากรังเดิมไปขุดรังใหม่ เพื่อป้องกันลูกอ่อนจากกระต่ายตัวผู้ ซึ่งอาจฆ่าลูกกระต่ายเกิดใหม่ได้ โดยจะกัดขนตัวเองเพื่อปูรองรับลูกใหม่ที่จะเกิดขึ้นมา นอกจากนี้แล้วตามธรรมชาติของกระต่าย ไม่ว่าจะเป็นกระต่ายป่าหรือกระต่ายบ้าน จะมีพฤติกรรมกินมูลของตัวเองที่ขับถ่ายออกมา มูลลักษณะนี้ถูกเรียกว่า "มูลพวงองุ่น" เป็นมูลซึ่งยังมีสารอาหารอยู่ ที่กระต่ายไม่สามารถย่อยหรือดูดซึมสารอาหารไปได้หมด จึงต้องกินเข้าไปในร่างกายอีกครั้งเพื่อดูดซึมสารอาหารให้หมด
     กระต่ายกระจายพันธุ์ไปในทุกภูมิภาคทั่วโลก ไม่เว้นแม้กระทั่งเขตอาร์กติก ยกเว้นโอเชียเนียและทวีปออสเตรเลีย ในประเทศไทยพบกระต่ายที่เป็นกระต่ายสายพันธุ์ที่มีอยู่ในธรรมชาติเพียงชนิดเดียว คือ กระต่ายป่า (Lepus peguensis)
     กระต่ายโดยธรรมชาติ เป็นสัตว์ที่อยู่สุดปลายของห่วงโซ่อาหาร ด้วยเป็นอาหารของสัตว์กินเนื้อชนิดต่าง ๆ เช่น หมาป่า, หมาจิ้งจอก, แมวป่า, เสือชนิดต่าง ๆ, หมาใน, ชะมด, เพียงพอน รวมถึงงูขนาดใหญ่ด้วย เช่น งูหลามและงูเหลือม
     กระต่ายเป็นสัตว์ที่ผูกพันกับมนุษย์มาเป็นเวลานาน ด้วยการเป็นสัตว์ที่ถูกล่าเพื่อเป็นอาหารและเกมกีฬาโดยเฉพาะในแถบทวีปยุโรป ในเชิงวัฒนธรรมและความเชื่อ ชาวตะวันตกเชื่อว่า การพกตีนกระต่ายจะนำมาซึ่งโชคดี ความเชื่อนี้เชื่อกันอย่างมากโดยเฉพาะในทวีปอเมริกาเหนือ เชื่อว่า หากพกตีนกระต่ายที่เป็นตีนของขาหลังด้านซ้าย และหากคนที่ฆ่ากระต่ายตัวนั้นเป็นคนตาเหล่ หรือจับกระต่ายตัวนั้นได้ในสุสานหรือในคืนวันพระจันทร์เต็มดวง หรือคืนวันศุกร์ที่ 13 ก็จะยิ่งช่วยให้โชคดียิ่งขึ้น
     มาชิมาโร่ ตัวการ์ตูนที่เป็นกระต่ายของเกาหลีใต้
ชาวจีนและชาวญี่ปุ่นเชื่อว่า กระต่ายเป็นเทพเจ้าแห่งดวงจันทร์ มีหน้าที่ปรุงยาอายุวัฒนะ เป็นสัตว์เลี้ยงของฉางเอ๋อ เทพธิดาแห่งดวงจันทร์ การมอบรูปลักษณ์ของกระต่ายจึงถือเป็นการมอบความปรารถนาให้โชควาสนาให้แก่กัน
     นอกจากนี้แล้วในทางโหราศาสตร์ กระต่ายยังเป็นตัวแทนของนักษัตรลำดับที่ 4 คือ ปีเถาะ ที่ใช้สัญลักษณ์เป็นกระต่าย
     กระต่ายยุโรป ที่เป็นต้นสายพันธุ์ของกระต่ายบ้านที่นิยมเลี้ยงกันในปัจจุบัน
และยังได้กลายมาเป็นต้นแบบของตัวการ์ตูนหลากหลายตัว เช่น โรเจอร์ แรบบิท, บักส์ บันนี ที่ได้ต้นแบบมาจากกระต่ายป่าที่ปราดเปรียว หรือมาชิมาโร่ ของเกาหลีใต้ที่เป็นสื่อเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต โดยตัวละครการ์ตูนกระต่ายตัวแรกของโลก มีชื่อว่า "ออสวอลด์" ปรากฏตัวในภาพยนตร์การ์ตูนเรื่อง Oswald the Lucky Rabbit เมื่อปี ค.ศ. 1927 จากการสร้างสรรค์ของวอลต์ ดิสนีย์
     ในปัจจุบัน กระต่ายได้กลายมาเป็นสัตว์เลี้ยงของมนุษย์ทั้งในแง่ของการเป็นสัตว์เลี้ยงสวยงาม และสัตว์เศรษฐกิจเพื่อรับประทานเนื้อ โดยกระต่ายชนิดที่นำมาพัฒนาสายพันธุ์จนเป็นสัตว์เลี้ยงนั้น โดยมากจะเป็นชนิด กระต่ายยุโรป (Oryctolagus cuniculus) ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในทวีปยุโรป[8] ซึ่งกระต่ายสายพันธุ์สวยงามนั้นก็มีด้วยกันหลากหลายมากมาย โดยมีขนาดแตกต่างกันออกไปตามขนาดและลักษณะลำตัว เช่น เนเธอร์แลนด์ดวอฟ, โปลิช, ฮอลแลนด์ลอป ซึ่งเป็นกระต่ายขนาดเล็ก และอิงลิชลอป ที่เป็นกระต่ายขนาดใหญ่ เป็นต้น โดยมีองค์กรที่ทำการรองรับและจัดมาตรฐานสายพันธุ์กระต่ายในระดับสากล คือ สมาคมผู้พัฒนาสายพันธุ์กระต่ายแห่งสหรัฐอเมริกา (ARBA) กระต่ายสายพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก คือ คอนทิเนนทัล ไจแอนท์ ที่เมื่อโตเต็มที่แล้วมีน้ำหนักมากได้ถึง 20 กิโลกรัม และมีขนาดพอ ๆ กับสุนัขขนาดกลางตัวหนึ่ง และสถิติกระต่ายที่มีอายุยืนที่สุดในโลก คือ 16 ปี 14 วัน เป็นกระต่ายสายพันธุ์เจอร์ซี วูลลี ที่เป็นกระต่ายสายพันธุ์ขนยาว ชื่อ "ดู" (Do)

เพนกวิน

 
 เพนกวิน (อังกฤษ: penguin) เป็นนกที่อยู่ในวงศ์ Spheniscidae อันดับ Sphenisciformes

ลักษณะและพฤติกรรม

     เพนกวินมีถิ่นอาศัยอยู่บริเวณซีกโลกทางใต้หรือขั้วโลกใต้ เป็นนกที่บินไม่ได้ มีลักษณะเด่นคือ มีขนสีดำที่ด้านหลัง และขนสีขาวที่ด้านหน้าท้อง ซึ่งช่วยป้องกันเพนกวินจากสัตว์นักล่าต่าง ๆ เวลาว่ายน้ำ ปีกของเพนกวินมีลักษณะคล้ายครีบปลา ช่วยในการว่ายน้ำ แต่ไม่สามารถใช้ปีกในการบินเหมือนนกทั่วไป เพนกวินไม่สามารถหายใจในน้ำได้แต่สามารถกลั้นหายใจได้นานมากในน้ำ ร้อยละ 75 ของชีวิตเพนกวินจะอาศัยในน้ำ เพนกวินสามารถว่ายน้ำได้เร็วเฉลี่ยประมาณ 22- 24 กิโลเมตร/ชั่วโมง และสามารถดำน้ำได้ลึกถึง 250 เมตร ตีนของเพนกวินเป็นพังผืดเหมือนตีนเป็ด ใช้ได้ดีเวลาว่ายน้ำหรือดำน้ำ แต่เมื่อเดินบนบกแล้ว เพนกวินจะเดินตัวตรง แต่จะทำให้เดินอย่างช้า ๆ ซึ่งเพนกวินมีวิธีการเคลื่อนที่บนบกที่เร็วกว่าและใช้ได้ผลดีกว่าการเดิน นั่นคือ การไถลตัวไปตามทางลาดชันหรือพื้นที่ลื่นเป็นน้ำแข็ง
     เพนกวินออกลูกเป็นไข่ เมื่อเพนกวินตัวเมียออกลูกจะให้ตัวผู้กกไข่ ส่วนตัวเมียจะออกไปหาอาหาร ซึ่งได้แก่ ปลา, ครัสเตเชียน หรือหมึก ลูกเพนกวินแรกเกิดจะมีขนสีเทา เมื่อโตขึ้นขนสีเทาจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีดำที่ด้านหลัง และขนสีขาวที่ด้านหน้าท้อง เพนกวินจะมีพฤติกรรมการทำรังที่ต่างออกไปตามแต่ละชนิด บางชนิดทำรังใกล้ทะเล แต่บางชนิดทำรังในป่ามะเลาะ หรือพื้นที่ในชุมชนของมนุษย์ เช่น ใต้ถุนบ้าน หรือในสวนหลังบ้าน ก็มีเพนกวินทุกชนิดจะอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีอากาศหนาว ทำให้เพนกวินต้องมีชั้นไขมันที่หนาเพื่อช่วยในการกักเก็บความร้อนจากร่างกาย และเป็นอาหารในช่วงที่คลาดแคลน ขนของเพนกวินมี 2 ชั้น ชั้นในทำหน้าที่เหมือนขนของนกทั่วไป ส่วนชั้นนอกจะมีไขมันเคลือบไว้ เพื่อป้องกันน้ำ ความหนาวเย็น และลมหนาวจากภายนอก เพนกวินจะผลัดขนปีละครั้ง ขนที่เก่าและเสียหายจะหลุดออก และขนใหม่จะขึ้นอย่างรวดเร็ว
     เพนกวิน มีอายุขัยโดยเฉลี่ยประมาณ 15-20 ปี แต่บางชนิดก็อาจมีอายุที่ยาวกว่านั้น ทุกชนิดจะอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่คล้ายนิคม ในบางครั้งอาจมีการรวมฝูงกันมากถึงจำนวนนับแสนหรือล้านตัว เพนกวินเป็นนกที่บินไม่ได้ แต่สามารถว่ายน้ำได้อย่างคล่องแคล่วและรวดเร็วมาก ซึ่งเพนกวินจะตกเป็นอาหารของสัตว์ล่าเหยื่อขนาดใหญ่ เช่น วาฬออร์กา, แมวน้ำเสือดาว หรือ นกจมูกหลอดยักษ์ เป็นต้น
     เพนกวิน เป็นนกที่แพร่ขยายพันธุ์ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งตรงกับปลายปีของเวลาในซีกโลกใต้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อากาศยังอบอุ่นและยังหาอาหารกินได้ เพนกวินจะออกไข่และฟักให้เป็นตัวในช่วงนี้ และจะเร่งเลี้ยงดูลูกให้เติบโตอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทันฤดูหนาว ซึ่งเป็นฤดูที่ทั้งพื้นดินและทะเลในซีกโลกทางใต้เป็นน้ำแข็งทั้งหมด และเป็นฤดูกาลที่ยาวนานมาก เพนกวินบางชนิด อย่างเพนกวินจักรพรรดิ (Aptenodytes forsteri) ซึ่งเป็นเพนกวินชนิดที่ใหญ่ที่สุด ในเพศผู้อาจมีน้ำหนักตัวมากได้ถึง 40 กิโลกรัม ซึ่งเป็นการเตรียมตัวสำรองพลังงานอาหารไว้เพื่อรอรับกับฤดูหนาว

การผสมพันธุ์

     นอกจากนี้แล้ว ยังมีข้อมูลจากการบันทึกโดยนักสำรวจขั้วโลกใต้ชาวอังกฤษในปี ค.ศ. 1910 ที่ศึกษาถึงพฤติกรรมเพนกวินที่อาเดลีแลนด์ พบว่า มีพฤติกรรมทางเพศที่แปลกประหลาดมาก โดยมีการพบการรักร่วมเพศ, การข่มขืน, การผสมพันธุ์โดยไม่หวังการสืบพันธุ์ รวมถึงการผสมพันธุ์กับซากเพนกวินเพศเมียที่ตายไปนานแล้วด้วย
     เหตุที่เพนกวินไม่สามารถบินได้ ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเป็นเพราะความสามารถที่ดีในการว่ายน้ำและดำน้ำ จึงทำให้ปีกของเพนกวินไม่สามารถใช้ในการบินได้ เพราะการว่ายน้ำและดำน้ำใช้พลังงานที่น้อยกว่า ความสามารถในการบินก็ค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ ทั้งนี้เป็นผลมาจากการวิจัยจากนกทะเลชนิดอื่นที่มีสายพันธุ์ใกล้เคียงกับเพนกวินมากที่สุด เช่น นกทะเลปากยาว[9]

วิวัฒนาการ

     บรรพบุรุษของเพนกวิน เป็นนกที่ปีกไม่สามารถบินได้ แต่กลับว่ายน้ำได้คล่องแคล่วที่มีชื่อว่า "ไวมานู" ที่มีชีวิตอยู่ในยุคพาลีโอซีน ประมาณ 62 ล้านปีก่อน ซึ่งฟอสซิลของไวมานู ปัจจุบันพบได้ที่นิวซีแลนด์ ไวมานูมีรูปร่างที่เพรียวยาวแตกต่างจากเพนกวินในปัจจุบันมาก
     สำหรับเพนกวินในยุคปัจจุบัน เป็นนกที่ถือกำเนิดมานานกว่า 40 ล้านปีก่อน จากการศึกษาไมโตคอนเดรียและดีเอ็นเอพบว่า เพนกวินสกุล Aptenodytes ซึ่งเป็นเพนกวินชนิดที่ใหญ่ที่สุด เป็นต้นสายพันธุ์ของเพนกวินทั้งหมดในปัจจุบัน ก่อนที่แต่ละสกุลหรือชนิดจะแยกสายวิวัฒนาการของตัวเองขึ้นมา

ปลาการ์ตูน

   
     ปลาการ์ตูน เป็นปลากระดูกแข็งขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในทะเล จัดอยู่ในวงศ์ย่อย Amphiprioninae ในวงศ์ปลาสลิดหิน (Pomacentridae)

ลักษณะ

     เป็นปลามีสีสันสวยงาม โดยทั่วไปประกอบด้วยสีส้ม, แดง, ดำ, เหลือง และมีสีขาวพาดกลางลำตัว 1-3 แถบ อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นชนิดเดียวกัน ก็จะมีสีแตกต่างกันเล็กน้อยเสมอ ซึ่งความแตกต่างนี้ทำให้จดจำคู่ได้ นอกจากนั้น แหล่งที่อยู่อาศัยที่แตกต่างกันทำให้เกิดการแปรผันด้วย ปลาการ์ตูนอยู่กันเป็นครอบครัว กินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร เป็นปลาที่หวงถิ่นมาก มีเขตที่อยู่ของตนเอง
     การกระจายพันธุ์และถิ่นอาศัย
พบอาศัยอยู่ตามแนวปะการังในบริเวณเส้นศูนย์สูตรทั่วโลก อาศัยอยู่ตามแนวปะการังกับดอกไม้ทะเล

พฤติกรรม

    ปลาการ์ตูนออกลูกเป็นไข่และสามารถเปลี่ยนเพศได้ ปลาการ์ตูนจะเปลี่ยนเพศเมื่อสิ่งแวดล้อมกำหนดบทบาทให้ โดยในระยะแรกเริ่มหลังจากที่ฟักออกจากไข่ยังไม่สามารถกำหนดได้ว่าเป็นเพศใด จนกว่าจะเป็นตัวเต็มวัยจึงจะปรากฏเป็นปลาเพศผู้ และในปลารุ่นเดียวกันที่มีขนาดใหญ่ที่สุดจะต้องเปลี่ยนแปลงเป็นปลาเพศเมีย โดยในสังคมของปลาการ์ตูนกลุ่มหนึ่ง ๆ จะมีปลาเพศเมียเพียงตัวเดียวเท่านั้น ตัวใหญ่ที่สุดในฝูง สีสันไม่สดใสมากนัก พฤติกรรมก้าวร้าว ส่วนปลาเพศผู้มีขนาดเล็กกว่า สีสันสวยงามกว่า จากปลาเพศผู้ เมื่อมีสิ่งเร้าจากภายนอกและภายในเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ เทเลนฟาลอน (Telenephalon) จะส่งสัญญาณมาที่ทาลามัส (Thalamus) และไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) ส่งคำสั่งไปยังต่อมใต้สมองให้หลั่งฮอร์โมนเฉพาะของเพศผู้ อวัยวะเป้าหมายส่วนที่ จะพัฒนาจนสามารถทำงานได้คืออัณฑะผลิตสเปิร์ม ส่วนตัวที่ใหญ่ ที่สุดจะมีพัฒนาการตรงกันข้าม ไฮโปธาลามัสจะส่งคำสั่งไปยังต่อมใต้สมองให้หลั่งฮอร์โมนเฉพาะของเพศเมีย อวัยวะเป้าหมายคือรังไข่ ผลิตไข่ และถ้าเพศเมียตายไป ปลาการ์ตูนเพศผู้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด แข็งแกร่งที่สุด จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเพศทดแทนด้วยกลไกแบบหลังภายใน 4 สัปดาห์ โดยจะเพิ่มขนาดอย่างรวดเร็ว พร้อมสีสันสวยน้อยลง
     และจากการศึกษาพบว่า ปลาการ์ตูนมีระบบชนชั้นภายในฝูง โดยตำแหน่งหัวหน้าฝูงจะเป็น ปลาเพศเมียตัวที่ใหญ่ที่สุด และลดหลั่นกันไปจนถึงตัวที่มีขนาดเล็กที่สุด อีกทั้งยังพบด้วยว่า แม้ว่าปลาการ์ตูนจะถือกำเนิดห่างไกลจากที่กำเนิดเท่าใด เมื่อเจริญเติบโตขึ้นหรือถึงฤดูผสมพันธุ์วางไข่ จะว่ายฝ่ากระแสน้ำกลับมาวางไข่ยังบริเวณเดิมที่กำเนิด โดยอาศัยการดมกลิ่นจากกลิ่นของพืชที่อยู่บริเวณนั้น ซึ่งปลาจะมีความจดจำลักษณะเฉพาะของกลิ่นได้

แมว

 
  แมว เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อยู่ในตระกูล Felidae ต้นตระกูลมาจากเสือไซบีเรีย (Felis tigris altaica) ซึ่งมีช่วงลำตัวตั้งแต่จมูกถึงปลายหางยาวประมาณ 4 เมตร แมวที่เลี้ยงตามบ้าน จะมีรูปร่างขนาดเล็ก ขนาดลำตัวยาว ช่วงขาสั้นและจัดอยู่ในกลุ่มของประเภทสัตว์กินเนื้อ มีเขี้ยวและเล็บแหลมคมสามารถหดซ่อนเล็บได้เช่นเดียวกับเสือ สืบสายเลือดมาจากแมวป่าที่มีขนาดใหญ่กว่า ซึ่งลักษณะบางอย่างของแมวยังคงพบเห็นได้ในแมวบ้านปัจจุบัน
     แมวเริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่เมื่อประมาณ 9500 ปีก่อน ซึ่งจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดของแมวคือการทำมัมมี่แมวที่พบในสมัยอียิปต์โบราญ หรือในพิพิธภัณฑ์อังกฤษในลอนดอน มีการแสดงสมบัติที่นำออกมาจากพีระมิดโบราณแห่งอียิปต์ ซึ่งรวมถึงมัมมี่เหมียวหลายตัว ซึ่งเมื่อนำเอาผ้าพันมัมมี่ออกก็พบว่า แมวในสมัยโบราณทุกตัวมีลักษณะใกล้เคียงกัน คือเป็นแมวที่มีรูปร่างเล็ก ขนสั้นมีแต้มสีน้ำตาล มีความคล้ายคลึงกับพันธุ์ในปัจจุบัน ที่เรียกว่าแมวอะบิสซิเนีย

การจัดจำแนก

     โดยทั่วไปมีการแบ่งพันธุ์แมวออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ ๆ คือ แมวขนยาว (longhaired cat) และ แมวขนสั้น (shorthaired cats) การแบ่งพันธุ์ด้วยวิธีนี้ทำให้จำแนกแมวออกได้ตามลักษณะพันธุ์ที่จำเพาะต่าง ๆ กัน การจัดจำแนกแมวในยุโรปและสหรัฐอเมริกามีการกำหนดมาตรฐานของพันธุ์แมวที่เป็นที่ยอมรับกัน ทั้งนี้ลักษณะมาตรฐานของพันธุ์ก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อย ๆ การใช้ชื่อเรียกพันธุ์แมวที่แสดงถึงลักษณะของพันธุ์ที่จำเพาะมีความแตกต่างกันระหว่างในยุโรปและสหรัฐอเมริกา และมีบางพันธุ์มีการจัดจำแนกเฉพาะต่างหากในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น
     แมวในโลกนี้มีมากมายหลายพันธุ์ โดยเฉพาะแมวที่เป็นสัตว์เลี้ยงไม่นับรวมสัตว์ตระกูลแมว พวกเสือ แมวดาว แมวป่า หรือสิงโต แมวเลี้ยงหรือที่เราเรียกว่า Domestic cat นั้นมีวิวัฒนาการมาจากแมวป่าในธรรมชาติจากหลายภูมิภาคของโลก ชื่อเรียกพันธุ์แมวที่แตกต่างกันที่เรียกกันทุกวันนี้ เช่น เปอร์เซีย แมวสยาม แมวบาหลี แมวอะบิสซิเนีย และแมวโซมาลี นั้น แสดงถึงถิ่นกำเนิดที่แสดงถึงภูมิศาสตร์ที่เขาถือกำเนิดมา ในการจัดนิทรรศการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศอังกฤษเมื่อปีคริสศักราช 1871 ถือเป็นการเริ่มต้นในการนำเสนอพันธุ์แมวในระดับนานาชาติ ทำให้ผู้สนใจในแมวมีความตื่นตัว แต่การแสดงในครั้งนั้นส่วนใหญ่เป็นแมวเปอร์เซียและแมวขนสั้นเป็นหลัก

แมวน้ำ

 
      วงศ์แมวน้ำแท้ (อังกฤษ: true seal, earless seal) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในวงศ์ใหญ่สัตว์ตีนครีบ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ วงศ์ Phocidae (ไม่มีใบหู) และวงศ์ Otariidae (มีใบหู) และ Odobenidae (วอลรัส)

ลักษณะทั่วไป

     แมวน้ำตัวผู้จะใหญ่กว่าตัวเมีย โดยมีคอเป็นสันใหญ่ สีขนลำตัวของตัวผู้เป็นสีเทา-ดำ และมีสีน้ำตาลแซม น้ำหนักราว 247 กิโลกรัม ความยาว 2.15 เมตร ตัวเมียมีสีลำตัวเป็นสีน้ำตาล-เทา น้ำหนักราว 57 กิโลกรัม และมีความยาว 1.56 เมตร

ถิ่นอาศัยและอาหาร

     แมวน้ำจะออกจับปลาในทะเลใกล้เกาะเล็ก ๆ และขึ้นฝั่งบนเกาะบริเวณชายหาดที่เป็นโขดหินที่มีการขึ้นลงของน้ำทะเลในเขตแอฟริกาใต้ กินปลาเป็นอาหารหลักรวมทั้งปลาหมึกและหอย

พฤติกรรมและการสืบพันธุ์

     แมวน้ำเคปเฟอร์ซีลเป็นสัตว์สังคม แต่มักขี้บ่น อยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ชอบล่าเหยื่อและหากินตามผิวน้ำหรือน้ำตื้นๆ หากินปลาตามเรือของชาวประมง ในช่วงกลางเดือนตุลาคม ตัวผู้จะไปยังพื้นที่ผสมพันธุ์ซึ่งเป็นชายหาดที่เป็นโขดหินและประกาศอาณาเขต อีกหลายสัปดาห์ต่อมาตัวเมียจะตามเข้ามาเพื่อออกลูกจำนวน 1 ตัว ซึ่งจะมีตัวเมียหลายตัวเข้ามาในอาณาเขต ตัวผู้ที่ครองอาณาเขตจะไล่ตัวผู้ตัวอื่นออกนอกอาณาเขตหากล้ำเข้ามา จนกว่ามันจะได้ผสมพันธุ์กับตัวเมียทุกตัว ตัวเมียจะเป็นสัดหลังการออกลูก 5 - 6 วัน และมีระยะการตั้งท้องนานประมาณ 1 ปี